ลดเค็ม ลดโรค ลดอ้วน

รสเค็มมาจากเกลือ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ โซเดี่ยม โซเดี่ยมถือว่าเป็นภัยเงียบที่แอบแผงอยู่ในอาหารแทบทุกชนิด โซเดี่ยม ภัยเงียบแจกฟรี จากสถิติทั่วทั้งโลก และรวมถึงประเทศไทย พบว่า คนในยุคปัจจุบันมีการกินอาหารที่มีรสเค็มเพิ่มมากขึ้น โดยจะพบว่ามีการได้รับปริมาณของเกลือเฉลี่ยต่อคนสูงกว่าค่าปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทยที่กำหนดให้ได้รับเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา โดยที่มีโซเดียมไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม แต่ค่าเฉลี่ยของคนไทย คือ ได้รับเกลือประมาณวันละ 2 ช้อนชา โดยมีโซเดียมต่อวันมากกว่า 4,000 มิลลิกรัม การได้รับโซเดียมที่มากกว่าปริมาณที่แนะนำจะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา

แหล่งที่มาของโซเดียม

  • เครื่องปรุงอาหารที่มีปริมาณของโซเดียมอยู่สูง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ผงชูรส กะปิ ผงปรุงรส น้ำมันหอย เครื่องพริกแกง น้ำปลาร้า ผงฟู
  • ประเภทของอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่เค็ม ลูกชิ้น ไส้กรอก แคบหมู ขนมถุงกรุบกรอบ อาหารดองเค็ม อาหารแช่อิ่ม อาหารตากแห้ง เครื่องดื่ม ขนมปัง

ข้อควรระวังเมื่อชอบกินอาหารรสเค็ม

  • จากการศึกษา พบว่า ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มเป็นประจำ จะมีพฤติกรรมการกินของหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานรสเค็ม เนื่องจากเมื่อร่างกายได้รับโซเดียม ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในเกลือและสารที่ให้ความเค็มอื่นๆ ร่างกายจะมีความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายที่สูงขึ้น และส่งผลให้ร่างกายต้องการน้ำเพราะจะรู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น และจากงานวิจัยระบุว่า เครื่องดื่มที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ชอบรับประทานรสเค็มเลือกนั้น ก็คือ เครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน จึงทำให้ได้รับน้ำตาลสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มมีความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่า
  • โดยปกติแล้วระบบประสาทการรับรู้รสชาติของอาหารที่ลิ้นจะลดน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าคนที่ชอบกินอาหารรสเค็มจะเพิ่มความเค็มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ
  • การกินอาหารที่มีโซเดียมสูง เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะไตเสื่อม เนื่องจากไตซึ่งเป็นอวัยวะที่กรองของเสียและน้ำออกนอกร่างกายจะต้องทำงานหนัก เมื่อมีโซเดียมในร่างกายสูง และเมื่อต้องทำงานหนักเป็นประจำไตก็จะเสื่อมเร็วขึ้น
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและตามมาด้วยความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • การได้รับปริมาณของโซเดียมสูงในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม

วิธีการลดปริมาณโซเดียมจากอาหาร

  • เน้นการกินอาหารสดมากกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป
  • หลีกเลี่ยงหรือกินแต่น้อยสำหรับอาหารที่มีรสเค็มมาก เช่น อาหารดองเค็ม อาหารกระป๋อง อาหารตากแห้งเค็ม
  • ชิมอาหารก่อนปรุง หากจะใส่เครื่องปรุงควรใส่ทีละน้อย
  • ใช้เครื่องจิ้มต่างๆ ในปริมาณน้อย เช่น น้ำจิ้มไก่ ซีอิ๊วหวาน น้ำจิ้มแจ่ว น้ำพริกต่างๆ เพราะมักจะมีรสเค็ม
  • อ่านฉลากโภชนาการในปริมาณของโซเดียมทั้งหมด
  • ใช้สมุนไพรในการปรุงประกอบอาหารจะช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้นโดยช่วยลดการเติมเกลือลงในอาหาร
  • ทำอาหารทานเอง เพื่อเลือกวัตถุดิบที่นำมาปรุงได้
  • ลดการทานอาหารที่ใช้ผงฟูเป็นส่วนประกอบ พวกขนมปัง เบเกอร์รี่ต่างๆ

ที่มาของข้อมูล (ศูนย์อนามัยที่ 5) https://hpc.go.th/diet/index.php

เว็บไซต์นี้ใช้ cookies ของคุณเพื่อให้ประสบการณ์การเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ของคุณได้อย่างดีที่สุด คุณยอมรับการบันทึกข้อมูล cookies หรือไม่